วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

คลิปกบนอกกะลา ตอนความรู้เรื่องร้านขายยา

http://www.youtube.com/watch?v=UZy7BZNhWFU ลองดูนะคะ จะได้เลือกเข้าร้านยาได้ตรงตามความต้องการค่า  และคราวหน้าจะเล่าเรื่องวงการร้านยาที่ตัวเองเข้าไปอยู่มาเกือน 10 ปีนะคะ

วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ไซนัสอักเสบ รักษาได้ไม่ยาก

 โรคไซนัสอักเสบเกิดขึ้นได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จึงเป็นโรคที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อยที่สุดโรคหนึ่ง โดยประมาณกันว่า 1 ใน 8 ของประชากรทั่วไปจะเป็นโรคนี้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โดยเฉพาะในฤดูที่คนป่วยเป็นไข้หวัดมากอย่างในช่วงนี้ แต่เนื่องจากโรคไซนัสอักเสบไม่มีอาการเฉพาะเจาะจง เราจึงควรทำความรู้จักกับโรคนี้ไว้เพื่อจะได้รู้เท่าทัน

     โรคไซนัสอักเสบคือการอักเสบของเยื่อบุโพรงอากาศข้างจมูก หรือที่เราเรียกว่า “ไซนัส” ซึ่งอาจเป็นเพียงหนึ่งไซนัส หรือหลายไซนัส เป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ อาจจะเป็นการอักเสบติดเชื้อหรือการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อก็ได้
รู้จักไซนัสและหน้าที่ 
     ไซนัสคือโพรงอากาศที่อยู่ภายในกระดูกบริเวณรอบๆ หรือใกล้เคียงกับจมูก ซึ่งมีอยู่ 4 กลุ่มใหญ่ๆ ในแต่ละข้าง ไซนัสที่ใหญ่ที่สุดอยู่ภายในกระดูกโหนกแก้ม (maxillary sinus) อีกกลุ่มหนึ่งมีอยู่หลายโพรง มีขนาดเล็ก และอยู่ระหว่างบริเวณโคนจมูก และหัวตาแต่ละข้าง (ethmoidal sinuses) ในกระดูกหน้าผากก็มีไซนัสภายใน (frontal sinus) นอกจากนั้นยังมีไซนัสที่อยู่ใต้ฐานกะโหลกศีรษะ (sphenoidal sinus) ด้วย หน้าที่ของไซนัสนั้นไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจช่วยทำให้เสียงที่เราเปล่งออกมากังวานขึ้น ช่วยทำให้กะโหลกศีรษะเบาขึ้น และช่วยรักษาสมดุลของศีรษะ ช่วยในการปรับความดันของอากาศภายในโพรงจมูก ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของความดัน และสร้างสารคัดหลั่งที่ป้องกันการติดเชื้อของโพรงจมูกและไซนัส
บุคลิกของโรคไซนัสอักเสบ
     โรคไซนัสอักเสบเป็นโรคที่พบบ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง รวมถึงต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง ที่สำคัญโรคไซนัสอักเสบมักไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง เนื่องจากอาการของโรคมักไม่เฉพาะเจาะจง ทำให้แยกได้ยากจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น จมูกอักเสบหรือหวัด โรคไซนัสอักเสบมีตั้งแต่หายได้เองโดยไม่ต้องรักษา เช่น ไซนัสอักเสบตามหลังหวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสและเป็นไม่มาก ไปจนถึงไซนัสอักเสบที่ต้องรับการรักษาอย่างเร่งด่วน เช่น ไซนัสอักเสบที่มีภาวะแทรกซ้อนที่ตาและสมอง
สำหรับโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่ระยะเริ่มแรก อาจเกิดไซนัสอักเสบเฉียบพลันเป็นๆ หายๆ หรือเกิดไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น เยื่อบุหูชั้นกลางอักเสบ ริดสีดวงจมูก ท่อยูสเตเชียน(ที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูก)ทำงานผิดปกติ ภาวะแทรกซ้อนทางตา หรือสมอง เช่น ฝีในลูกตาหรือสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่ถ้าผู้ป่วยไซนัสอักเสบได้รับการวินิจฉัย และได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมในระยะเริ่มแรก จะช่วยลดอุบัติการณ์ของการกลับเป็นซ้ำ หรือการเป็นเรื้อรัง และลดอุบัติการณ์ของภาวะแทรกซ้อนและการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้
อุบัติการณ์
     โรคไซนัสอักเสบเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ ประมาณกันว่าประชากรทั่วไป 1 ใน 8 คนจะเป็นโรคไซนัสอักเสบในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โดยอุบัติการณ์ของการเกิดไซนัสอักเสบมีแนวโน้มว่าจะเกิดมากขึ้นในฤดูกาลที่มีคนเป็นไข้หวัดหรือมีการอักเสบติดเชื้อในทางเดินหายใจมาก คือไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในผู้ใหญ่ที่เกิดตามหลังไข้หวัดจะพบได้ประมาณร้อยละ 0.5-2 ส่วนในเด็กจะพบได้ประมาณร้อยละ 5-10 ส่วนโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังนั้นจะพบในกลุ่มประชากรทั่วไปประมาณร้อยละ 1.2-6
สาเหตุของไซนัสอักเสบ
     - การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลัน
     - การติดเชื้อของฟันกรามแถวบน มักทำให้เป็นไซนัสอักเสบข้างเดียว
     - การว่ายน้ำ ดำน้ำ โดยเฉพาะขณะมีการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน
     - สิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูก มักทำให้เป็นไซนัสอักเสบข้างเดียว โดยเฉพาะในเด็ก
     - การเปลี่ยนแปลงความดันของบรรยากาศภายนอกอย่างรวดเร็ว
     - อุบัติเหตุของกระดูกบริเวณใบหน้า
     - ปัจจัยที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น บริเวณที่มีฝุ่น ควัน หรือสิ่งระคายเคืองมาก
     - ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันและภูมิต้านทานของร่างกาย เช่น ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีภูมิต้านทานต่ำ
     - ปัจจัยที่เกี่ยวกับการถ่ายเทและการระบายสารคัดหลั่งและอากาศของไซนัส ได้แก่

โรคหรือภาวะใดก็ตามที่ทำให้มีการอุดตันหรือรบกวนการทำงานของรูเปิดของไซนัส เช่น
* มีการบวมของเยื่อบุจมูกบ่อยๆ หรือเรื้อรัง เนื่องจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และชนิดไม่แพ้ การสูบบุหรี่ หรือสูดควันบุหรี่ การสัมผัสกับมลพิษเป็นประจำ
* มีผนังกั้นช่องจมูกคดงอ
* กระดูกที่ผนังด้านข้างโพรงจมูกมีขนาดใหญ่มาก จนไปอุดตันรูเปิดของไซนัส
* มีก้อนเนื้อในโพรงจมูกหรือไซนัส เช่น ริดสีดวงจมูก เนื้องอกในโพรงจมูกหรือไซนัส
* ในเด็กเล็ก อาจมีต่อมแอดีนอยด์โต หรือมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูกเป็นเวลานาน
* ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจทางจมูก หรือต้องคาสายให้อาหารในโพรงจมูกเป็นระยะเวลานาน
* ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของขนกวัดที่ทำหน้าที่กำจัดสารคัดหลั่งและสิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูกและโรคไซนัส เช่น มีการทำงานที่ผิดปกติไป
ไซนัสอักเสบเกิดได้อย่างไร
     ไซนัสจะมีช่องทางติดต่อกับโพรงจมูกโดยผ่านทางรูเปิดธรรมชาติ โรคไซนัสอักเสบเกิดจากการอุดกั้นของรูเปิดระหว่างจมูกและไซนัสดังกล่าว ทำให้มีการคั่งของสารคัดหลั่งภายในไซนัส กลไกการพัดโบกของขนกวัดที่เยื่อบุไซนัสจึงผิดปกติไป และอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรือร่างกายไม่สามารถสร้างสารคัดหลั่งของไซนัสที่ดีและมีคุณภาพในการต่อต้านการติดเชื้อได้ ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุไซนัสตามมา
โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันหมายถึงมีการอักเสบของเยื่อบุไซนัสที่เป็นมาน้อยกว่า 4 สัปดาห์ และอาการหายไปอย่างสมบูรณ์ ส่วนไซนัสอักเสบเรื้อรังคือ การที่มีเยื่อบุของไซนัสอักเสบเป็นระยะเวลามากกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไปทั้งๆ ที่ให้การรักษาโดยการให้ยาเต็มที่แล้ว โดยพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในเยื่อบุไซนัสของผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรังนั้น จะมีการอักเสบและการทำลายของเยื่อบุไซนัส และสูญเสียขนกวัดที่ทำหน้าที่กำจัดสารคัดหลั่งและสิ่งแปลกปลอม
การวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ
     การวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบจะอาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย และการสืบค้นเพิ่มเติม ดังนี้
ประวัติที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่ เป็นหวัดมานานมากกว่า 7-10 วัน เป็นหวัดที่มีอาการรุนแรงมาก ไข้สูง คัดจมูก มีน้ำมูกเหลืองข้น ได้กลิ่นลดลง ปวดหรือตื้อทึบบริเวณโหนกแก้มคล้ายปวดฟันบน ปวดรอบๆ จมูก หัวคิ้ว หรือหน้าผาก เจ็บคอ เสมหะไหลลงคอ ไอ ปวดศีรษะ อาการทางจมูกที่ไม่ดีขึ้นหลังให้ยาหดหลอดเลือด โดยมีอาการดังกล่าวภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน ส่วนผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังมักมีอาการไม่เฉพาะเจาะจง เช่น คัดจมูก การรับกลิ่นลดลงหรือไม่ได้กลิ่น มีน้ำมูกสีเขียวเหลืองในจมูกหรือไหลลงคอ ปวดศีรษะ มีกลิ่นปาก ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ลิ้นเป็นฝ้า คอแห้ง มีเสมหะในคอ เจ็บคอ ระคายคอเรื้อรัง ไอ ปวดหู หรือหูอื้อ อาจแยกได้ยากจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้
ลักษณะที่พบจากการตรวจร่างกายที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน จะมีการกดเจ็บบริเวณไซนัสที่อักเสบ เห็นน้ำมูกเหลืองข้นไหลลงคอ เยื่อบุจมูกที่อักเสบบวมแดงมาก หรือมีหนอง โรคไซนัสอักเสบเรื้อรังมักจะไม่มีอาการกดเจ็บบริเวณไซนัส การตรวจในช่องจมูกอาจพบน้ำมูกเหลืองในจมูกหรือโพรงหลังจมูก และเยื่อบุจมูกที่อักเสบบวมได้
การสืบค้นเพิ่มเติมที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ ได้แก่ การส่งถ่ายภาพรังสีไซนัส การส่งทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) บริเวณจมูกและไซนัส ซึ่งมีประโยชน์ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนของโรคไซนัสอักเสบ ผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันเป็นๆ หายๆ หรือ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง และก่อนทำการผ่าตัดรักษาไซนัสอักเสบด้วยกล้องเอ็นโดสโคป ซึ่งการใช้กล้องเอ็นโดสโคปในการส่องตรวจในโพรงจมูก ก็เพื่อดูรูเปิดของไซนัสว่ามีหนองไหลออกมาหรือไม่ นอกจากนี้การส่องกล้องยังช่วยเก็บสารคัดหลั่ง หรือหนอง เพื่อส่งตรวจหาเชื้อและความไวต่อยาต้านจุลชีพ หาความผิดปกติทางกายวิภาคที่เป็นสาเหตุของโรคไซนัสอักเสบ และช่วยในการผ่าตัดโดยทำให้เห็นบริเวณที่ผ่าตัดชัดขึ้น และช่วยในการติดตามผลการรักษาของผู้ป่วยด้วย
การรักษาโรคไซนัสอักเสบ
     จุดมุ่งหมายของการรักษาไซนัสอักเสบคือ บรรเทาอาการ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และป้องกันภาวะแทรกซ้อน หรือการกลับเป็นซ้ำของโรค โดยหลักในการรักษาโรคไซนัสอักเสบ ประกอบด้วย

      1. กำจัดเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ ด้วยการให้ยาต้านจุลชีพ เพื่อทำให้อาการของโรคดีขึ้นเร็ว โดยการเลือกชนิดของยาต้านจุลชีพขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ การดำเนินโรค ความไวต่อยาต้านจุลชีพของเชื้อนั้นๆ และอุบัติการณ์ของการดื้อยา สำหรับระยะเวลาของการให้ยาต้านจุลชีพนั้น ในรายที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันควรให้ยาต้านจุลชีพอย่างน้อย 10-14 วัน หรือให้จนผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติและให้ต่ออีก 1 สัปดาห์หลังจากนั้น ส่วนในรายที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังควรให้ยาต้านจุลชีพเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3-6 สัปดาห์

      2. ทำให้การไหลเวียนของสารคัดหลั่งและอากาศภายในไซนัสดีขึ้น ด้วยการใช้
- ยาหดหลอดเลือด ทำให้การบวมของเยื่อบุจมูกลดลง บรรเทาอาการคัดจมูก ทำให้รูเปิดของไซนัสโล่งขึ้น อาจให้ในรูปยาพ่นหรือยาหยอดจมูก หรือยารับประทาน หรือให้ร่วมกันทั้งสองชนิดก็ได้ สำหรับยาหดหลอดเลือดที่พ่นหรือหยอดจมูก ไม่ควรใช้นานกว่า 7 วัน เพราะจะทำให้เยื่อบุจมูกเสียได้ ส่วนยาหดหลอดเลือดชนิดรับประทาน ควรระวังผลข้างเคียงด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย

      - ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก อาจมีประโยชน์ในรายที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือไซนัสอักเสบเป็นๆ หายๆ โดยเฉพาะถ้ามีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือชนิดที่ไม่แพ้ร่วมด้วย ยาพ่นจมูกดังกล่าวจะช่วยลดการอักเสบในจมูก ทำให้รูเปิดของไซนัสที่มาเปิดในโพรงจมูกโล่งขึ้น ช่วยให้การไหลเวียนของอากาศ การระบายของสารคัดหลั่ง หรือหนองที่อยู่ภายในไซนัสดีขึ้น

      - ยาต้านฮีสทามีน ไม่แนะนำให้ใช้ยาต้านฮีสทามีนรุ่นเก่าในผู้ป่วยไซนัสอักเสบที่ไม่ได้มีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วย เนื่องจากอาจทำให้น้ำมูกและสารคัดหลั่งแห้งและเหนียวได้ ในรายที่มีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วยก็ควรเลือกใช้ยาต้านฮีสทามีนรุ่นใหม่ เนื่องจากมีผลข้างเคียงดังกล่าวค่อนข้างน้อย

      - ยาละลายมูกหรือเสมหะ ยังไม่มีการศึกษาที่แสดงถึงประสิทธิภาพของยาละลายมูกในการรักษาโรคไซนัสอักเสบชัดเจน

      - การล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ เป็นการชะล้างเอาน้ำมูก หนอง สิ่งสกปรกในจมูก ซึ่งเกิดจากการอักเสบในโพรงจมูกและไซนัสออก เพื่อให้โพรงจมูกและบริเวณรูเปิดของไซนัสโล่ง ทำให้การพัดโบกของขนกวัดที่เยื่อบุจมูกดีขึ้น อาการต่างๆ ของผู้ป่วยจึงดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

      - การสูดดมไอน้ำเดือด จะช่วยทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม โล่ง ลดอาการคัดจมูก และอาการปวดตื้อๆ ที่ศีรษะ นอกจากนั้นยังทำให้การพ่นยาเข้าไปในจมูกมีประสิทธิภาพมากขึ้น

      - การผ่าตัด เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคไซนัสอักเสบส่วนใหญ่มักจะหายได้โดยการใช้ยาอย่างเต็มที่ แพทย์จึงพยายามใช้ยาในการรักษาอย่างเต็มที่ก่อน จึงมีผู้ป่วยส่วนน้อยที่ต้องรับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขพยาธิสภาพที่ทำให้รูเปิดระหว่างโพรงจมูกและไซนัสอุดตัน ซึ่งมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดดังนี้

* ผู้ป่วยต้องการเชื้อไปส่งตรวจหาชนิดและความไวต่อยาต้านจุลชีพของเชื้อ

* ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยให้ยาอย่างเต็มที่แล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น(ผู้ป่วยไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่รักษาด้วยยาเต็มที่แล้ว แต่ไม่หายภายใน 3–4 สัปดาห์ หรือผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรังที่รักษาด้วยยาเต็มที่แล้วไม่ได้ผลภายใน 4–6 สัปดาห์) หรือมีการอักเสบเป็นซ้ำหลายๆ ครั้ง

* ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมาก มีไข้ขึ้นสูง หรือมีภาวะแทรกซ้อนของไซนัสอักเสบ

* ผู้ป่วยไซนัสอักเสบที่มีริดสีดวงจมูกร่วมด้วย

* ผู้ป่วยไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อรา

* ผู้ป่วยไซนัสอักเสบที่มีความผิดปกติของโครงสร้างทางกายวิภาคภายในโพรงจมูก ซึ่งทำให้เกิดการอุดตันของรูเปิดไซนัส

3. รักษาโรคหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ได้แก่

      - ความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย ต้องแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้ดี เพื่อร่างกายจะได้มีภูมิคุ้มกัน โดยให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ และออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เพื่อให้ความต้านทานโรคดีขึ้น ลดโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อลง

     - เมื่อมีการติดเชื้อขึ้นในทางเดินหายใจส่วนบน เช่น เป็นหวัด คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ หรือฟันผุ ต้องรีบรักษาให้หายโดยเร็ว เพื่อไม่ให้การอักเสบนั้นลุกลามไปถึงไซนัสได้

      - ผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือชนิดไม่แพ้ ควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และให้ผู้ป่วยรู้จักวิธีปฏิบัติตัวและดูแลสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม

      - ผู้ป่วยที่มีผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีความผิดปกติทางกายวิภาคอื่นๆ ในจมูก หรือมีริดสีดวงจมูก ควรให้การรักษาด้วยยาหรือผ่าตัดให้เหมาะสมเป็นกรณีๆ ไป
Article: รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจมูกและภูมิแพ้http://www.healthtodaythailand.com/

วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

น้ำท่วมภาคกลางครั้งนี้หนักกว่าสึนามิบ้านเรานัก

ข่าวน้ำท่วมภาคกลางในช่วงเดือนที่ผ่านมา เป็นข่าวที่ทุกคนพูดถึงทุกๆวันในระยะนี้ ยิ่งดูภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่เหล่านั้นยิ่งสะเทือนใจ เด็กเล็ก คนชรา คนพิการ ผู้ป่วย ขาดยา อาหาร นม ทุกที่แวดล้อมไปด้วยน้ำ ที่ไม่รู้ว่าจะเพิ่มขึ้น หรือ คงที่ไปอย่างนี้อีกนานแค่ไหน การช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนยังคงทยอยไปยังผู้ประสบภัย แต่พื้นที่ความเสียหายเดือดร้อนนั้นช่างกว้างใหญ่เหลือเกิน คิดว่าคงยังมีคนที่ยังรอคอยความช่วยเหลือเข้าไปถึงอีกเป็นจำนวนมาก หวังว่าการระดมการช่วยเหลือคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่เป้นเพียงกระแส  ที่หายไปชั่วข้ามคืน/ สัปดาห์  .......
ตอนนี้ก็เหลือความหวังเพียงป้องกันเมืองหลวงไว้ให้ได้  เขตนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งก็จมอยู่ในน้ำไปแล้ว  http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9540000132565  บางคนพูดเรื่องความผิดความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ว่าใครจะต้องรับผิดชอบ ใครเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายลุกลามขนาดนี้ .....ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดสิ่งเลวร้ายกับผู้คนในวงกว้างเช่นนี้  แต่ความสามารถ วิสัยทัศน์ ภาวะผู้นำ ในการทำงานให้ชาติให้ประเทศ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ ลดขนาดความเสียหายลงได้  เป็นโจทย์ที่ยากสำหรับรัฐบาลภายใต้การนำของนายกหญิงใหม่ถอดด้าม ....ภาพความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกัน ขัดแย้งกัน ระหว่างฝ่ายรัฐ กับประชาชนหรือกลุ่มนักวิชาการ ยังคงมีให้เห็นอยู่จนวันนี้ รัฐสั่งให้เปิดประตูน้ำ  ประชาชนไม่ยอม จนเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้นท่ามกลางวิกฤตจากภัยธรรมชาติ  เข้าใจว่าทุกคนเดือดร้อนเป็นทุกข์กัน แต่ควรจะมีใครซักคนที่ก้าวเข้ามาใกล่เกลี่ยความเข้าใจอันไม่ลงรอยกันนี้ ซึ่งต้องเป็นผู้มีความน่าเชื่อถือ ผู้ที่เป็นที่รัก ไว้วางใจของพวกเรา...ใครกันเล่า...
    ส่วนตัวได้เพียงช่วยบริจาคกำลังเงิน กำลงัใจไปให้ผู้ประสบภัย และติดตามข่าวสารของเพื่อนๆ ซึ่งครั้งนึงพวกเค้าก็เคยเอาใจช่วยพวกเราชาวใต้ที่ประสบภัยสึนามิเช่นกัน  ธรรมชาติกำลังลงโทษมนุษยืที่ทำร้ายเค้าตลอดมา  ใกล้ถึงเวลานั้นแล้วสิ  วันสิ้นโลก  ....วันที่ทุกคนกลับสู่พื้นพิภพนี้อีกครั้ง...